วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“สามเหลี่ยมพลังจิ๋ว”

ห้องสมุดจะได้ย้ายไปอยู่ตึกใหม่ !!!!
ความรู้สึกแรกที่ได้รับคือ ดีใจเนอะ จะได้อยู่ตึกใหม่ ซึ่งแน่นอนต้องสวยกว่าที่เดิมแน่
แล้วสิ่งที่ตามมาคือ งานหนักที่พวกเราต้องช่วยกันขนย้าย

แต่ไม่เป็นไรน่า เพื่อห้องใหม่ที่สวยกว่า เราต้องช่วยกัน
เมื่อย้ายห้องสมุดมาแล้ว เราก็ยังได้ตู้หนังสือ ตู้วารสารใหม่อีกและก็ยังมีที่วางโชว์วารสารใหม่ด้วย

เพราะเหตุว่าแผ่นอะครีลิคที่ใช้วางโชว์วารสารใหม่นี้ ดูสวยงาม มีราคา กระทั่งว่าเมื่อได้มาใหม่ ๆ เราต้องคอยเก็บรักษาไว้ให้ดี กลัวจะชำรุด หรือสูญหายไปเสียก่อน

กระทั่งเมื่อได้นำมาใช้งานจริง ก็พบว่าที่ฐานของแผ่นอะครีลิคนี้มีลักษณะโค้งงอ เมื่อนำวารสารเล่มใหม่มาวางโชว์ไปได้สัก 2- 3 วัน เล่มก็จะมีสภาพโค้งงอ บางเล่มถึงขนาดปกด้านหน้า หัก ทำให้เสียรูปทรงไม่น่าดู

หลังจากที่เราเมียงมองกันอยู่สักระยะหนึ่ง
ก็ได้ไอเดียดี ๆ จากหัวหน้าของเรา ดร.สมรักษ์ สหพงศ์
ได้แนะว่าควรจะหาอะไรสักอย่างมาทำให้วารสารของเราอยู่ในสภาพที่ดีกว่านี้
จึงได้เกิดความคิดที่จะนำแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดที่เหลือใช้ นำมาทำเป็นสามเหลี่ยมเล็ก ๆ วางที่ฐานของแผ่นอะครีลิค เพื่อบังคับเล่มวารสารไม่ให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งจนทำให้ตัวเล่มโค้งงอ

ผลลัพธ์/ผลที่ได้จากการปรับปรุง
การดูแลให้วารสารอยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นหน้าที่หลักของผู้ปฏิบัติงาน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จึงหาวิธีแก้ไขที่สามารถทำให้เองโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในหน่วยงาน จากการที่แผ่นป้ายอะครีลิค มีรูปทรงที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำวารสารมาวางโชว์ จึงหาวิธีแก้ปัญหาโดยการทำ “สามเหลี่ยมพลังจิ๋ว” มาช่วยในการรักษารูปทรง ซึ่งสามารถช่วยให้วารสารอยู่ในสภาพเรียบร้อย คงรูปทรง หน้าปกไม่หักโค้งงอ และเมื่อนำมาเรียงที่ชั้นก็ทำให้เกิดความสวยงาม น่าหยิบใช้
นี่แหละคือที่มาของ “สามเหลี่ยมพลังจิ๋ว”
ซึ่งงานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ได้ส่งเสนอเป็นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ ประเภทรายบุคคล (Kaizen)

โดยมีผู้ร่วมทำงาน 2 คนคือ คุณภนิตา พรหมนิตย์ และคุณนิภา กระจ่างวุฒิชัย
และได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.สมรักษ์ สหพงศ์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

CoP บริการ : เทคนิคและคุณสมบัติของผู้ให้บริการ

          เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา กลุ่ม CoP บริการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการรับมือผู้ใช้บริการว่าแต่ละท่านมีเทคนิคอย่างไรกันบ้าง และในวันนี้วันที่ 19 เมษายน 2554 กลุ่มได้จัดกิจกรรมขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "เทคนิคและคุณสมบัติของผู้ให้บริการ" ซึ่งสืบเนื่องมาจากทางกลุ่มเคยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง "คำขวัญและศูนย์รวมของห้องสมุด" ซึ่งคำขวัญที่เหมาะสมที่สุด ที่ควรเป็นคำขวัญของห้องสมุดคือ "บริการด้วยใจ ประทับใจด้วยรอยยิ้ม" จากคำขวัญนี้กลุ่มจึ้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ให้บริการ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
  • บุคลิกภาพ/การแต่งกาย
          - ควรมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
          - มีความมั่นใจในการให้บริการ
          - ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ (ผู้หญิงไม่ควรใส่เสื้อแขนกุด คอกว้าง หรือกระโปรงที่ดูสั้นจนเกินไป)
  • การพูดจา/การติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้บริการ
          - การรับโทรศัพท์ ควรแนะนำตนเองและหน่วยงาน ผู้ใช้จะได้ทราบว่ากำลังติดต่อกับใครอยู่ และไม่ควรพูดช้าหรือเร็วจนเกินไป ไม่ควรปฏิเสธการรับเรื่อง และจดรายละเอียดให้ชัดเจน
          - ควรพูดกับผู้ใช้ด้วยน้ำเสียงที่สุภาพอ่อนโยน  หากเห็นผู้ใช้ท่านใด ที่ดูท่าทางต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบเข้าไปหาและสอบถามถึงความต้องการของผู้ใช้
          - หากมีการติดต่อนัดหมาย ควรโทรไปยืนยันกับผู้ใช้หรือหน่วยงานนั้น ๆ อีกครั้ง
          - ไม่ควรคุยโทรศัพท์ส่วนตัวในเวลาปฏิบัติงาน

          ผู้ให้บริการที่ดีนั้นควรมี Service mind ควรใส่ใจและเต็มใจให้บริการผู้ใช้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกระดับ อย่างเท่าเทียมกัน

      

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

CoP บริการ : เทคนิคการรับมือผู้ใช้บริการ

          วันพุธที่ 23 มีนาคม 2554 กลุ่ม CoP บริการ ซึ่งประธานกลุ่ม คือ คุณไพลิน ทิพย์สุมาลัยเลขากลุ่ม คือ คุณวิไลวรณ์ ดีตัน และสมาชิกกลุ่มอีก 26 คน ได้ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง เทคนิคการรับมือผู้ใช้บริการ

คุณไพลิน                                    คุณวิไลวรณ์
         
          เนื่องจากผู้ใช้บริการที่เข้ามาห้องสมุดมีหลายกลุ่ม หลายประเภท มีทั้งปฏิบัติตามกฎอย่างเรียบร้อย และบางท่านได้ละเมิดกฎระเบียบของห้องสมุด ดังนั้นทางกลุ่มจึงสรุปปัญหาที่ผู้ใช้บริการไม่ค่อยให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎ หรือเห็นว่าไม่สมควรกระทำในห้องสมุดดังนี้
  • การแต่งกาย ได้แก่ ใส่กางเกงขาสั้น / กระโปรงสั้นจนเกินควร และใส่เสื้อแขนกุด หรือบางเกินไป
  • การนำอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำแข็งเข้ามาทานให้ห้องสมุด
  • นำเครื่องสแกนมาสแกนหนังสือของห้องสมุด
  • วางเท้าพาดบนเก้าอี้ / โต๊ะ
  • นำเบาะโซฟาลงมาวางนั่งที่พื้น
  • พูดคุยกันเสียงดังรบกวนผู้ใช้บริการท่านอื่น
  • แสดงอาการไม่พอใจ หรือพูดเสียงดัง เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ
          ทางกลุ่มจึงได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
  • เดินไปบอกผู้ใช้โดยตรงโดยใช้คำพูดที่สุภาพ และหน้าตายิ้มแย้ม
  • จดชื่อผู้ใช้บริการท่านนั้น
  • ติดป้ายกฎระเบียบการใช้ห้องสมุดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ลิฟต์ ทางขึ้นตึก เป็นต้น
  • แจกระเบียบการใช้ห้องสมุดแก่ผู้เข้าใช้บริการห้องสมุด
  • มีผ้านุ่งหรือผ้าคลุมให้บริการสำหรับผู้ที่แต่งกายไม่เหมาะสม (เช่นเดียวกับวัดพระแก้ว) พร้อมทั้งลงชื่อผู้ใช้บริการด้วย
  • เดินสำรวจความเรียบร้อยภายในห้องสมุด
  • เมื่อผู้ใช้ไม่ได้ตามความต้องการ เช่น เสนอซื้อหนังสือ ขอใช้ห้องประชุม ฯลฯ เจ้าหน้าที่ควรจะมีการแจ้งถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่สามารถทำได้ หรือติดต่อประสานงานขอยืมจากหน่วยงานอื่นให้ เป็นต้น

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
          อย่างไรก็ตาม สำหรับห้องสมุดแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการมาเป็นอันดับแรก ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้น จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีสติ ควบคุมอารมณ์ตนเองให้ดี นอกจากคำพูดและน้ำเสียงแล้ว ยังรวมไปถึงการแสดงออกท่าสีหน้า กิริยาท่าทาง ที่จะต้องทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกดีขึ้น และสามารถแก้ปัญหาให้ผู้ใช้เกิดความพึงพอใจได้ ดังนั้นทางกลุ่ม CoP บริการ จึงเห็นควรว่ากิจกรรมครั้งต่อไป น่าจะแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับด้านผู้ให้บริการบ้าง และจะมี Trip เล็ก ๆ น้อย ๆ อะไรในการทำงาน ติดตามได้คราวหน้านะ...

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

CoP PA : เรื่อง ปัญหาและแนวทางในการเขียน PA

         เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่ม PA (Performance Agreement) ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการเขียน PA ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมของงานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ชั้น 2 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี สมาชิกที่เข้าร่วมจำนวน 22 คน โดยวันนั้นได้แนะนำหัวหน้ากลุ่ม PA คือ คุณสุภาภรณ์ แก้วโภคา และเลขากลุ่ม คือ คุณพัฒชา เสตะกสิกร พร้อมทั้งเลือกรองหัวหน้าและผู้ช่วยเลขาฯขึ้นมาใหม่ ซึ่งรองหัวหน้า ได้แก่ คุณปกรณ์ สุวรรณสถิตย์และผู้ช่วยเลขาฯคือ คุณไพลิน ทิพย์สุมาลัย


          กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนั้นหัวข้อคือปัญหาและแนวทางในการเขียน PA ของสมาชิกในกลุ่ม เริ่มตั้งแต่ความหมายของPAตามความเข้าใจของสมาชิก โดยคุณปกรณ์ได้อธิบายให้สมาชิกในกลุ่มได้รับทราบถึง PA คือ การทำการตกลงในการทำงานระหว่างผู้ปฏิบัติงานและหัวหน้างาน โดยที่ผู้ปฏิบัติงานได้สัญญากับหัวหน้างานว่าจะทำงานอะไร ภายในระยะเวลาที่กำหนด และมีหลักฐานตรวจสอบได้ จากนั้นได้ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องปัญหาที่พบในการเขียนPA สมาชิกได้ให้ความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่ปัญหาที่พบในการเขียน PA สมาชิกประสบปัญหาเหมือนกัน คือ งานประจำนำมาเขียนใน PA ได้หรือไม่



          สมาชิกกลุ่ม คือคุณอาทิตย์ โสลี ได้ยกตัวอย่าง PA มานำเสนอให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มได้เป็นแนวทางในการเขียนPA ว่าจะสามารถพัฒนาจากงานประจำ นำมาทำให้ดีมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งจากกรณี PA ของคุณอาทิตย์ทำให้สมาชิกในกลุ่ม เกิดแนวคิดในการที่จะเขียน PA ในครั้งต่อไป

          กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งต่อไป สมาชิกในกลุ่มจะนำเสนอ PA ของแต่ละคน มาให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มได้รับทราบกันต่อไป

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

เรื่องเล่าคนทำงานจดหมายเหตุดิจิตอล : แรกเริ่มของการจัดการเอกสาร

เรื่องเล่าคนทำงานจดหมายเหตุดิจิตอล คุณชัชชญา คัณฑเขตต์

         
คุณชัชชญา คัณฑเขตต์ เป็นบรรณารักษ์ หน่วยหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี วันนี้เราจะได้ทราบกันว่า แรกเริ่มของการจัดการเอกสารของงานจดหมายเหตุเป็นมาอย่างไร มาติดตามเรื่องเล่าจากคุณชัชชญาได้เลย
          หน่วยหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งเพื่อรองรับการจัดตั้ง “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี” โดยกำหนดให้เป็นหอจดหมายเหตุดิจิตอล คือ มุ่งเน้นการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบไฟล์ดิจิตอล เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น และเป็นการรักษาสภาพของเอกสารจดหมายเหตุให้คงสภาพเช่นเดิม ลดการชำรุดอันเกิดจากการใช้งาน เช่น การเปิดเอกสารบ่อย ๆ การฉีกขาด เป็นต้น
          เอกสารจดหมายเหตุบางประเภท มีอายุยาวนานไม่ต่ำกว่า 40 ปี บ่งบอกถึงพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่มของการวางแผนงานการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ล้วนเป็นเอกสารทรงคุณค่า และไม่สามารถประเมินค่าได้ อีกทั้งเป็นเอกสารต้นฉบับดั้งเดิมเพียงหนึ่งเดียว จึงต้องรักษาและทะนุถนอมอย่างดีที่สุด เพื่อให้ยังคงเป็นเอกสารล้ำค่า อันเป็นความทรงจำ ความภาคภูมิใจของพวกเราชาวรามาธิบดี



          ในการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิตอลนั้น  จะเริ่มต้นจากการทำทะเบียนเอกสารประเภทหนังสือ  โดยการถ่ายภาพตัวเล่มในส่วนของปกหนังสือ สันหนังสือ และจำนวนต้นฉบับที่มีเก็บไว้  รวมถึงคัดแยกตามประเภทเอกสาร  เพื่อใช้ในการตรวจสอบ   ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว  สามารถเห็นรูปลักษณ์ของสิ่งพิมพ์   เมื่อดูภาพถ่ายจะทราบได้ในทันทีว่าเอกสารประเภทนั้น ๆ  มีจำนวนกี่ชื่อเรื่อง  แต่ละชื่อเรื่องมีจำนวนกี่เล่ม   ภาพถ่ายของเอกสารจึงเปรียบเหมือนทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุเบื้องต้นแทนการใช้การจดบันทึกรายการเอกสารด้วยชื่อเรื่อง, จำนวนเล่ม และข้อมูลพิมพลักษณ์  และทำให้สะดวกรวดเร็วต่อการค้นหาตัวเล่มเพื่อการใช้งาน รวมถึงการตรวจสอบการคงอยู่สภาพเดิมของต้นฉบับ   และการติดตามตัวเล่มในกรณีที่มีผู้ยืมเพื่อนำไปใช้งานอีกด้วย  

          หากเป็นอัลบั้มภาพถ่าย การถ่ายภาพตัวอัลบั้มและภาพถ่ายด้านใน จะทำให้รับทราบถึงการจัดเรียงภาพ จำนวนภาพ จำนวนอัลบั้มที่มีอยู่ เนื่องจากบางครั้งการเสื่อมสภาพของกาวในอัลบั้ม อาจจะทำให้ภาพขยับเลื่อนไปจากเดิม เป็นต้น ดังนั้นการใช้ภาพถ่าย จึงเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของต้นฉบับและดูภาพรวมได้ นอกจากนี้ วัตถุพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ถูกนำมาถ่ายภาพเช่นเดียวกันค่ะ 



          เรื่องราวของการจัดเก็บเอกสาร ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ จะเล่าสู่กันฟังในตอนต่อไปค่ะ

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

กว่าจะเป็นห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เรื่องเล่าจาก ดร. สมรักษ์ สหพงศ์


          ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีตั้งอยู่ที่อาคารหลัก ชั้น 2 (ปัจจุบันคือ OPD ผิวหนัง) เปิดบริการพร้อมคณะฯ เมื่อ 2512  และใน พ.ศ. 2529 ได้ย้ายไปที่ อาคารเรียนรวม ชั้น5 เมื่อประมาณ  หลังจากนั้น 20 ปี ใน พ.ศ. 2548 ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารว่า ห้องสมุดจะได้ย้ายไปอยู่ตึกใหม่ แต่จำนวนพื้นที่ไม่แตกต่างจากตึกเดิม ซึ่งมีประมาณ 1,000 ตารางเมตร นับเป็นห้องสมุดโรงเรียนแพทย์ที่มีพื้นที่น้อยที่สุดในประเทศไทย  การย้ายครั้งใหม่นี้เป็นการย้ายครั้งที่ 2 นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี

ภาพห้องสมุดเดิม


        แต่โจทย์ที่ได้มาคือพื้นที่เท่าเดิมถึงอย่างไรก็ยังใจชื้นขึ้นเพราะท่านคณบดี(ศ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ให้กำลังใจว่าทำให้เต็มที่ ขออะไรก็ได้ (ยกเว้นพื้นที่ซึ่งมีจำกัด) ขอให้ทำให้ห้องสมุดทันสมัยและสวยงาม ท่านพร้อมจะสนับสนุน พวกเรารู้สึกดีใจแต่เราต้องหาทางที่จะไปให้ถึงฝันให้ได้
อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี

          ห้องสมุดคณะฯ ได้พื้นที่ ณ ชั้น 2 ของอาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี พวกเราต้องหาข้อมูลต่างๆ โดยด่วนเพื่อมาประมวลให้เกิดเป็นห้องสมุดแห่งใหม่ โดยการศึกษาดูงานทั้งการไปดูพื้นที่จริง และการดูทางเว็บไซต์ รวมทั้งวิธีการต่างๆ เพื่อประสานงานกับสถาปนิกและผู้ออกแบบตกแต่งภายใน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 เริ่มมีการก่อสร้างจนกระทั่งสร้างเสร็จ และตกแต่งสำเร็จใน พ.ศ. 2553 และให้เข้าใช้ได้ตั้งแต่ วันที่ 27 ธันวาคม 2553

ภาพห้องสมุดปัจจุบัน


 
          การย้ายห้องสมุดสิ้นสุดลงอย่างภาคภูมิใจที่เราไม่ปิดบริการเลย นับเป็นห้องสมุดแห่งหนึ่งที่ย้ายพื้นที่บริการโดยไม่มีการปิดบริการ

ชั้นวางหนังสือภาษาไทย-อังกฤษ

          การจัดสร้างห้องสมุดคณะฯนี้เรามีหลักการที่สำคัญในการปฏิบัติงานครั้งนี้ที่เราภาคภูมิใจอีกเช่นกัน คือการใช้แนวคิดของ การปฏิบัติงานทางบรรณารักษ์และสารสนเทศเชิงประจักษ์ ( Evidence-Based Librarian and Information Practice-EBLIP) หรืออาจเรียกว่า Evidence-Based-Librarianship (EBL) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ของนักสารสนเทศ

          นับเป็นเวลามากกว่า 10 ปีที่นักสารสนเทศนานาชาติให้ความสนใจกับการนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ในกลุ่มบรรณารักษ์และสารสนเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศออสเตรเลีย และประเทศต่างๆในยุโรป รวมถึงในเอเชีย เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งการนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาประยุกต์ใช้ในวิชาชีพนักสารสนเทศนี้ เป็นที่รู้จักกันในคำว่า Evidence-Based Librarian and Information Practice หรือ EBLIP อย่างไรก็ตาม Evidence-Based Librarian and Information Practice หรือ EBLIP ยังไม่ได้รับการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่แน่นอน แต่ผู้เขียนขอใช้ภาษาไทยว่า การปฏิบัติงานทางบรรณารักษ์และสารสนเทศเชิงประจักษ์ กระบวนทัศน์ใหม่ของวงการบรรณารักษ์และสารสนเทศนี้เป็นระบบและเป็นประเด็นที่นักสารสนเทศนานาชาติกำลังให้ความสนใจและมีการขยายแนวคิดนี้ไปทั่วโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้

          จากการใช้แนวคิดการปฏิบัติงานทางบรรณารักษ์และสารสนเทศเชิงประจักษ์ จึงได้ส่งผลงานไปนำเสนอที่ A-LIEP 2011: Asia-Pacific Conference on Library & Information Education and Practice- Issues, Challenges and Opportunities วันที่ 22-24 June 2011.

ดังนี้

เรื่อง Evidence-Based-Librarianship (EBL) : for new place of Ramathibodi Medical Library.

By Dr. Somrux Sahapong. Ramathibodi Medical Library. Mahidol University. Thailand.

Setting: Ramathibodi Medical Library is the most small medical school library in Thailand due to the most limitation of space in Ramathibodi Medical School. The budget has been approved to renovate the new place for the library but the staff should concern the same size.

Methodology: The library staff conducted the Evidence-Based-Librarianship (EBL) concept in to the right practice for the new building. We define the problem as: For new library building which limit the space but still providing the splendid service. We formulated the answering prediction question using SPICE model in causation question type. The evidence in the management has been searching via LISA Database, ISTA Database, Emerald Database, INSPEC Database including PubMed Database. Critical appraising the evidences are required to realize the validity reliability and applicability.

Result: The majority of evidences are applicable as the following: decrease the bound print volume with scanning technique, the reading areas are dedicated for special internal service. The architect designed the special thick floor and high ceiling for the new building and the special high heavy stable shelves for books and journals. Furthermore, the special high compactable shelves are suitable to be allocated.

Conclusion: The new building of Ramathibodi Medical Library were embarked for one and a half year. Finally, the library with the same size, high technology tool and electronic format included online databases applicable are presented in the new building. The launching high technology service via online were conducted. The reading area is conversed into internal service contact. Nevertheless, the living library are still in Ramathibodi Medical Library concept.